สภากายภาพบำบัด


ศ.ดร.กภ.ประวิตร เจนวรรธนะกุล
นายกสภากายภาพบำบัด
วาระปี พ.ศ. 2566-2569
   ข่าวประชาสัมพันธ์

มติครม.ประจำวันที่ 11 ธ.ค. 55 ที่ทุกคนควรรู้ !

มติครม.ประจำวันที่ 11 ธ.ค. 55 




ครม.เห็นชอบกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อปี 56 อยู่ที่ 0.5-3.0% ขณะที่นายกฯสั่งทุกหน่วยงานรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจทุกเดือน 

1. กำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินประจำปี 2556 ไว้ที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยรายไตรมาสระหว่างร้อยละ 0.5 – 3.0 ต่อปี เช่นเดียวกับเป้าหมายของนโยบายการเงินประจำปี 2555 ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2555 

2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการเงินได้ลงนามในข้อตกลงร่วมกันในการกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินประจำปี 2556 โดยข้อตกลงดังกล่าวมีสาระสำคัญ ดังนี้
 
2.1 เป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจำปี 2556 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยรายไตรมาสระหว่างร้อยละ 0.5 – 3.0 ต่อปี 

2.2 การติดตามความเคลื่อนไหวของเป้าหมายของนโยบายการเงิน เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายของนโยบายการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ กค. และธนาคารแห่งประเทศไทยจะจัดให้มีการหารือร่วมกันเป็นประจำทุกไตรมาส และเมื่อมีเหตุจำเป็นอันใดตามที่ทั้งสองหน่วยงานจะเห็นสมควร 

2.3 การเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานออกนอกเป้าหมาย กรณีอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเคลื่อนไหวออกนอกช่วงเป้าหมายตามที่ตกลงร่วมกันไว้ ให้คณะกรรมการนโยบายการเงินชี้แจงสาเหตุ แนวทางแก้ไขและระยะเวลาที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะกลับเข้าสู่ช่วงที่กำหนดไว้โดยเร็ว รวมทั้งให้รายงานความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาเป็นระยะตามสมควร 

2.4 การแก้ไขเป้าหมายของนโยบายการเงินในกรณีที่มีเหตุอันสมควรหรือจำเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและคณะกรรมการนโยบายการเงินอาจตกลงร่วมกันเพื่อแก้ไขเป้าหมายของนโยบายการเงินได้ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา 

รายงานข่าวจากที่ประชุมครม.เปิดเผยว่า นายกฯได้ขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจ ทุกสัปดาห์แรกของเดือน เพื่อที่จะได้รับทราบแนวโน้มทิศทางเศรษฐกิจรวมถึงสภาวะเงินเฟ้อ เพื่อที่หามาตรการเยียวยาได้ทัน 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายเดือนนี้ ทางเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ จะรายงานสภาวะการณ์เศรษฐกิจในภาพรวมทั้งหมดของปี 2555 รวมถึงคาดการณ์สภาวะเศรษฐกิจในปี 2556 อีกด้วย 

ครม.เทงบ 66 ล้านบาทจัดซื้อรถยนต์หุ้มเกราะ 33 คันตามสตช.เสนอ เพื่อใช้ปฏิบัติภารกิจ 3 จังหวัดชายแดนใต้ 

นพ.ทศพร เสรีรักษ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เสนอให้มีการจัดซื้อรถยนต์หุ้มเกราะ โดยครม.จัดงบประมาณ จำนวน 66 ล้านบาท เพื่อซื้อรถชนิดดังกล่าวแบบดับเบิ้ลแค็บ ขนาด 1 ตัน ขับเคลื่อนสี่ล้อ จำนวน 33 คัน เพื่อทดแทนรถใช้งานมาเป็นระยะเวลา 8 ปี และเสียหายจากการปฏิบัติภารกิจ

 ครม.อนุมัติบรรจุพยาบาลเป็นขรก.

ที่ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบแนวทางแก้ไขปัญหา กรณีมีข้อเรียกร้องให้บรรจุบุคลากรสาธารณสุขที่เป็นลูกจ้างชั่วคราวให้เป็นข้าราชการพลเรือน ตามที่มีการหารือกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก่อนหน้านี้ ในการทยอยบรรจุตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราวเป็นข้าราชการพลเรือน ในอัตราปีละ 7,547 อัตรา เป็นเวลา 3 ปี รวม 22,641 อัตรา จากลูกจ้างชั่วคราวทั้งหมด 30,188 คน ใน 21 สายงาน หรือขอบรรจุ 75 เปอร์เซ็นต์ ตามคุณสมบัติ 4 ข้อ ได้แก่ 1.อายุงานของการเป็นลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งขณะนี้มีอายุงานนานที่สุดตั้งแต่ปี 2549 2.เรื่องภาระงานของแต่ละโรงพยาบาล เช่น ความหนาแน่นของโรงพยาบาล 3.พื้นที่การปฏิบัติหน้าที่ เช่น ชนบทและพื้นที่ห่างไกล 4.งานตามภารกิจของหน่วยงานส่วนที่เหลืออีก 25 เปอร์เซ็นต์นั้น จะขอให้มีการบรรจุโดยมีสภาพการจ้างเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ทดแทนระหว่างที่รอบรรจุเป็นข้าราชการ และได้รับสิทธิประโยชน์อื่นแทน ทั้งเงินตอบแทนวันลา 

ส่วนภาพรวมบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขขณะนี้ มีข้าราชการและลูกจ้างรวมประมาณ 320,000 คน เป็นข้าราชการ 180,000 คน ลูกจ้าง 140,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นลูกจ้างชั่วคราวสายวิชาชีพ เช่น พยาบาลวิชาชีพ นักวิชาการสาธารณสุข เภสัชกร และอื่นๆ 21 สายงาน ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถเปลี่ยนสถานะจากลูกจ้างชั่วคราวมาเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุขได้ภายในปี 2556 —ISN 02 

ครม.อนุมัติ 2.3 พันล้าน เยียวยาผู้ชุมนุม 

ครม.อนุมัติ 2,300 ล้านบาท เยียวยาเหตุการณ์ผู้ชุมนุม ตามข้อเสนอปคอป.

นพ.ทศพร เสรีรักษ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประจำวันที่ 11 ธ.ค.2555 ว่า ที่ประชุม ครม.ได้พิจารณาถึงข้อเสนอแนะเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงินตามหลักมนุษยธรรม สำหรับผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง (พ.ศ.2548-2553) ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงาน ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) โดยที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงิน ให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงหรือความขัดแย้งทางการเมือง ตั้งแต่เหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประมาณปลายปี พ.ศ. 2548 จนถึงเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 จำนวน 500 ราย ประมาณการงบประมาณในวงเงิน 300 ล้านบาท และอนุมัติให้ใช้จ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นต่อไป โดยมอบหมายให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เป็นผู้ดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาและเป็นหน่วยเบิกจ่ายงบประมาณ 

ส่วนกรณีของผู้ถูกควบคุมหรือคุมขังระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน จะได้รับการเยียวยา 37,030 บาท จำนวน 250 ราย ใช้งบประมาณ 9,257,500 บาท ขณะที่ผู้ถูกคุมขังเกิน 90 วัน ไม่เกิน 180 วัน จะได้รับเงินเยียวยาค่าคุมขัง 74,060 บาท ด้านจิตใจ 750,000 บาท จำนวน 150 ราย วงเงิน 123,609,000 บาท และผู้ถูกคุมขังเกินกว่า 180 วัน ได้รับเงินเยียวยาค่าคุมขัง 74,471 บาท เยียวยาด้านจิตใจ 1,500,000 บาท จำนวน 500 ราย วงเงิน 164,894,200 บาท ทั้งนี้ ได้มอบหมายกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เป็นผู้ดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาและเป็นหน่วยเบิกจ่ายงบประมาณ นพ.ทศพร กล่าวอีกว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรียังเห็นชอบเยียวยาสำหรับผู้ที่ทรัพย์สินเสียหายจากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง (พ.ศ. 2548-2553) ในวงเงิน 2,000 ล้านบาท โดยหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือเยียวยานั้น ให้ผู้เป็นเจ้าของ หรือมีกรรมสิทธิ์ หรือมีสิทธิในสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ ซึ่งได้รับความเสียหายทั้งหมดหรือบางส่วน อันเป็นผลโดยตรงมาจากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง (พ.ศ. 2548-2553) ที่ได้มีการลงทะเบียนไว้แล้ว ถือเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาในอัตราเงินเยียวยาที่กำหนดตามระดับมูลค่าความเสียหาย โดยจำแนกระดับมูลค่าความเสียหายสำหรับคำนวณอัตราเงินเยียวยาเป็น 8 ระดับ คือ 1.น้อยกว่า 100,000 บาท 2.ตั้งแต่ 100,000-500,000 บาท 3.มากกว่า 500,000-1,000,000 บาท 4.มากกว่า 1-2 ล้านบาท 5.มากกว่า 2-3 ล้านบาท 6.มากกว่า 3-4 ล้านบาท 7.มากกว่า4-5 ล้านบาท และ 8.มากกว่า 5 ล้านบาท 

สำหรับระดับมูลค่าความเสียหายมากกว่า 5 ล้านบาท ได้กำหนดให้ค่าเฉลี่ยมูลค่าความเสียหายเป็น 5 ล้านบาท และกำหนดกรอบอัตราเงินเยียวยาในสัดส่วนร้อยละ 40 ของค่าเฉลี่ยมูลค่าความเสียหายในแต่ละระดับตามฐานข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบที่มีการลงทะเบียนไว้แล้ว โดยกำหนดอัตราเงินเยียวยาสูงสุดซึ่งผู้ที่ทรัพย์สินเสียหายมีสิทธิได้รับในวงเงินไม่เกินจำนวน 2 ล้านบาท/ราย ทั้งนี้ผู้เสียหายที่เคยได้รับเงินเยียวยาจากรัฐจะถูกหักออก อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานคร (กทม.) และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย จะเป็นผู้ดำเนินการจ่ายเงินเยียวยา และเป็นหน่วยเบิกจ่ายงบประมาณ —ISN 05 

ครม. อนุมัติกู้เงินตามมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน ระยะที่ 10 ของการรถไฟแห่งประเทศไทย 

นายแพทย์ทศพร เสรี รักษ์ โฆษกประจำสำนักนายรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประจำวันที่ 11 ธันวาคม 2555 ว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กู้เงินเป็นเงินทั้งสิ้น 458 ล้านบาท เพื่อชดเชยการดำเนินการตามมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนด้านการเดินทางในส่วนของ รฟท. ตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มาตรา 39 (4) โดยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้จัดหาเงินกู้ ค้ำประกันเงินกู้ และยกเว้นค่าธรรมเนียมการค้ำประกันเงินกู้ และให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรเงินงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดเชยเงินต้นและดอกเบี้ยต่อไป ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ —ISN 05 

ครม.เห็นชอบบูรณาการแผนต้านยาเสพติด 

เมื่อเวลา 14.00 น.นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบข้อเสนอของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ (ศพส.) โดยให้ทุกจังหวัดและอปท.พิจารณานำงบประมาณปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 สนับสนุนและส่งเสริมยุทธศาสตร์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดในโครงการ “ชุมชนอุ่นใจได้ลูกหลานกลับคืน” ปฏิบัติการปิดล้อม X-Ray เชิงรุก 90 วัน นอกจากนี้ยังให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและกลไกเฉพาะจัดตั้งขึ้น และให้กระทรวงสาธารณสุขให้ลดอัตราเสพซ้ำให้ได้ตามเป้าหมาย กระทรวงศึกษาธิการ ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลิตวิทยากรป้องกันฯเยาวชนก่อนวัยเสี่ยง ส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกรมการพัฒนาชุมชนเป็นเจ้าภาพหลักในการป้องกันและแก้ไขปัญหากลุ่มเยาวชนนอกสถานศึกษา พร้อมกันนี้ให้ศพส.จังหวัดและอำเภอเร่งรัดปฏิบัติการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์เพื่อจูงใจให้ผู้เสพเข้าบำบัด —ISN 05

“ครม.” เห็นชอบ “ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (การดำเนินคดีแบบกลุ่ม) 

นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (การดำเนินคดีแบบกลุ่ม) ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป 

(การดำเนินคดีแบบกลุ่ม) มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองผู้ด้อยโอกาสทางสังคม และผู้ได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อยแต่มีจำนวนบุคคลที่ได้รับความเสียหาย ในมูลคดีเดียวกันเป็นจำนวนมาก ให้ได้รับการเยียวยาแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพรวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี อีกทั้งเป็นมาตรการที่ทำให้การดำเนินคดีในมูลคดีอย่างเดียวกันได้รับผลเป็นอย่างเดียวกัน อันเป็นมาตรการในการอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม —ISN 05 

“ครม.” อนุมัติ ความตกลงว่าด้วยการเดินทางข้ามแดนไทย-มาเลเซีย 

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.อนุมัติความตกลงว่าด้วยการเดินทางข้ามแดนไทย-มาเลเซีย ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ดังนี้ คือ 

1.อนุมัติให้จัดทำร่างความตกลงว่าด้วยการเดินทางข้ามแดนไทย-มาเลเชีย 

2.อนุมัติร่างความตกลงว่าด้วยการเดินทางข้ามแดนไทย-มาเลเซีย 

3.อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ลงนามในความตกลงว่าด้วยการเดินทางข้ามแดนไทย-มาเลเซีย และ 

4.อนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) เพื่อการลงนามในร่างความตกลงว่าด้วยการเดินทางข้ามแดนไทย-มาเลเซีย 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสาระสำคัญของเรื่อง ทางกระทรวงมหาดไทย ได้รายงานดังนั้ คือ

1.กระทรวงมหาดไทยของไทยและมาเลเซีย ได้รับมอบหมายจากที่ประชุมคณะกรรมาธิการร่วม ว่าด้วยความร่วมมือไทย-มาเลเซีย (JC) ครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 6-8 มีนาคม 2546 ให้ดำเนินการปรับปรุงความตกลงว่าด้วยการจราจรข้ามแดนมลายูอังกฤษกับประเทศไทย ค.ศ. 1940 มท. จึงได้จัดประชุมร่วมกับกระทรวงกิจการภายใน ของประเทศมาเลเซีย (Ministry of Home Affairs) เมื่อวันที่ 1-3 เมษายน พ.ศ. 2555 เพื่อร่วมกันพิจารณาปรับปรุงความตกลงว่าด้วยการจราจรข้ามแดนมลายูอังกฤษกับประเทศไทย ค.ศ. 1940 ซึ่งเป็นความตกลงที่ใช้มาตั้งแต่สมัยอังกฤษปกครองมลายูเพื่อให้แนวทางปฏิบัติในการเดินทางข้ามแดนบริเวณชายแดนไทย-มาเลเซีย มีความสอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน โดยทั้งสองฝ่ายได้บรรลุผลสำเร็จในการจัดทำความตกลงฯ ฉบับใหม่ร่วมกัน 

สาระสำคัญดังกล่าวระบุด้วยว่า 

2.ความตกลงว่าด้วยการเดินทางข้ามแดนไทย-มาเลเซียนี้ ครอบคลุมสาระสำคัญในด้านการจัดระเบียบบุคคลข้ามแดน เพื่อเป็นการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในด้านเศรษฐกิจการค้าชายแดน และความร่วมมือทางด้านสังคมและวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และเพื่อให้ประชาชนตามแนวชายแดนสามารถเดินทางไปมาหาสู่กันได้โดยสะดวก โดยใช้ความตกลงฯ ฉบับ พ.ศ.2483 เป็นพื้นฐานและปรับเปลี่ยนข้อกำหนดต่างๆ ให้สอดคล้องกับสภาพการเดินทางข้ามแดนปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป โดยความตกลงฯ ครอบคุลมสาระสำคัญของการเดินทางข้ามแดน ดังนี้ 

2.1 วัตถุประสงค์ของการเดินทาง มีความชัดเจนและครอบคุลมมากขึ้น ได้แก่ เพื่อการเยี่ยมเยือน การท่องเที่ยว การกีฬา การฝึกอบรมระยะสั้นไม่เกิน 6 เดือน การเข้าร่วมสัมมนาหรือการพบปะหารือ การเข้าร่วมประชุมและกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และวัตถุประสงค์อื่นๆ ที่สองประเทศอาจตกลงกันในภายหลัง (เดิมกำหนดให้เดินทางเพื่อการเยี่ยมเยือนเท่านั้น) 

2.2 อายุการใช้งาน กำหนดให้หนังสือผ่านแดนมีอายุใช้งาน 1 ปี (เดิมมีอายุ 6 เดือน) 

2.3 ระยะเวลาการพำนัก 30 วัน (เดิม 7 วัน) 

2.4 พื้นที่ชายแดน ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดสงขลา จังหวัดสตูล จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดปัตตานี และครอบคลุมพื้นที่ 4 รัฐของประเทศมาเลเซีย ได้แก่ รัฐเกดาห์ รัฐ กลันตัน รัฐเปรัค (เฉพาะเมืองฮูลูเปรัค) และรัฐเปอร์ลิส (จากเดิมสามารถเข้าได้เพียง 25 กิโลเมตรจากชายแดนของทั้งสองประเทศ) 

2.5 ผู้ขอเอกสารข้ามแดน ประชาชนไทยและมาเลเซียที่มีภูมิลำเนาอยู่พื้นที่ชายแดนเป็นการถาวรที่ระบุในความตกลง (พื้นที่ชายแดนตามข้อ 2.4) 

สาระสำคัญของเรื่องดังกล่าวระบุอีกว่า จะต้องนำร่างความตกลงฯ ไปสู่กระบวนการลงนามร่วมกันของทั้งสองประเทศจึงจะมีผลบังคับใช้ได้โดยสมบูรณ์ต่อไป 2.3 มท. ได้พิจารณาในประเด็นมาตรา 190 แล้ว เห็นว่าเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนการลงนาม และโดยที่ร่างความตกลงมีสาระสำคัญเป็นการจัดทำบัตรผ่านแดน (border pass) เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้า-ออก และพำนักบริเวณชายแดนไทย-มาเลเซีย แก่ประชาชนที่อาศัยในบริเวณดังกล่าว จึงไม่ถือเป็นหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือพื้นที่นอกอาณาเขตหรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขว้าง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ และสามารถปฏิบัติตามร่างความตกลงฯ ได้โดยไม่ต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา ดังนั้น จึงไม่เป็นหนังสือสัญญาที่จะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาตามมาตรา 190 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไท —ISN 05


  File Attach

โพสโดย วันที่ 2012-12-13 00:00:00    เปิดดู 3154 ครั้ง