สภากายภาพบำบัด


ศ.ดร.กภ.ประวิตร เจนวรรธนะกุล
นายกสภากายภาพบำบัด
วาระปี พ.ศ. 2566-2569
   ประวัติสภากายภาพบำบัด

                     วิชาชีพกายภาพบำบัดได้ก่อกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ เฟื่อง สัตย์สงวน (บิดาแห่งวงการกายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย) เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนกายภาพบำบัดขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2508 โดยขึ้นอยู่กับภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์ และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (ชื่อในขณะนั้น ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยมหิดล) และได้มีวิทยาศาสตร์บัณฑิตวิทยาศาสตรบัณฑิตสาขากายภาพบำบัด ออกมารับใช้สังคมเป็นรุ่นแรกในปี พ.ศ. 2510 ซึ่งต่อมาได้มีการเริ่มก่อตั้ง “ชมรมกายภาพบำบัด” ขึ้นเมื่อ 1 มกราคม 2513 โดยมี นางสาวกานดา ใจภักดี เป็นประธานชมรม และได้มีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการชมรมเป็นระยะๆ เพื่อพัฒนาวิชาชีพกายภาพบำบัด โดยเผยแพร่ความรู้ทางด้านวิชาการสู่ประชาชน ทางสถานีวิทยุ ท.ท.ท. เดือนละ 1 ครั้ง (30 นาที) และได้ดำเนินการขอเสนอจัดตั้ง “สมาคมกายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย” ต่อทางการ (กองกำกับการสันติบาล และสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ) ซึ่งนักกายภาพบำบัดที่เป็น หัวเรี่ยวหัวแรงในการติดต่อประสานงานจนสามารถจัดตั้งสมาคมฯ เป็นผลสำเร็จเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2516 ที่จะขอกล่าวถึงในที่นี้คือ นางสาวกานดา ชวพัฒนากุล (ถึงแก่กรรม) การดำเนินงานของสมาคมฯ (พ.ศ. 2516-17) ในปีแรก โดยมี นายประโยชน์ บุญสินสุข เป็นนายกสมาคมฯ ได้เริ่มมีการติดต่อกับต่างประเทศ เพื่อศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับการประกอบโรคศิลปะสาขากายภาพบำบัด และได้จัดพิมพ์ “วารสารกายภาพบำบัด” ออกเผยแพร่สู่สมาชิก ในปี 2517-18 นายกสมาคมฯ ท่านเดิมได้รับงานต่อมา โดยได้เน้นหนักเกี่ยวกับงานด้านวิชาการกายภาพบำบัด และได้จัดส่งผู้แทนสมาคมฯเข้าร่วมประชุมสหพันธ์กายภาพบำบัดโลก (World Confederation for Physical Therapy: WCPT) ครั้งที่ 7 ที่ประเทศคานาดา ในกลางปี 2517 นายสุรศักดิ์ ศรีสุข ได้รับหน้าที่นายกสมาคมฯ สืบแทน และได้มุ่งเน้นในด้านประชาสัมพันธ์ สู่บุคคลภายนอกทั้งด้านวิทยุและหนังสือพิมพ์ ได้จัดส่งอาสาสมัครไปช่วยงานที่ศูนย์เด็กพิการปากเกร็ด ตลอดจนจัดงานหาทุนเข้าสู่สมาคมฯ และได้ร่วมกับโรงเรียนกายภาพบำบัดจัดตั้งอนุกรรมการพิจารณาหลักสูตร นักศึกษากายภาพบำบัดปี 3, 4 ในปี พ.ศ. 2518- 2519 นายกสมาคมฯ ท่านเดิมได้ทำหน้าที่ต่อ โดยพัฒนาวิชาชีพสู่ต่างประเทศ ได้ริเริ่มผลักดันให้สมาคมฯ ได้เข้าเป็นสมาชิกของสหพันธ์กายภาพบำบัดโลก (สำเร็จในปี 2521 ซึ่งWCPT ได้มีหนังสือชี้แจงรับสมาคมกายภาพบำบัดแห่งประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิก) นอกจากนี้ได้กระจายงานด้านวิชาการ โดยจัดส่งวารสารกายภาพบำบัดไปตามโรงพยาบาลและโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งได้ผลทางด้านประชาสัมพันธ์ทางอ้อมด้วย ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ และนักเรียน นักศึกษาได้รู้จักวิชาชีพนี้มากยิ่งขึ้น ในปี พ.ศ. 2519-2520 ได้มีการเปลี่ยนนายกสมาคมฯ คือ นายสุดสาคร พุดโธ รับหน้าที่แทน ได้พัฒนาวิชาชีพสืบเนื่องกันมาทั้งด้านวิชาการด้านเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน และในวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ได้มีประกาศพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ สาขากายภาพบำบัด โดยมีคำสั่งของคณะปฎิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 38…. โดยที่คณะปฎิรูปการปกครองแผ่นดินพิจารณาเห็นว่า การควบคุมการประกอบโรคศิลปะในปัจจุบัน มีสาขาในการประกอบโรคศิลปะเพิ่มขึ้นคือ สาขากายภาพบำบัด และสาขาเทคนิคการแพทย์ ดังนั้นเพื่อให้การควบคุมการประกอบโรคศิลปะได้เป็นไปอย่างรัดกุมและเหมาะสม สมควรแก้คำนิยามคำว่าโรคศิลปะและบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องในกฎหมายเสียใหม่ให้สอดคล้องกัน คณะปฎิรูปการปกครองแผ่นดินจึงมีคำสั่งดังนี้.... (6) กายภาพบำบัด คือ การกระทำในการช่วยเหลือผู้ป่วยเพื่อบำบัด ป้องกัน แก้ไข และฟื้นฟูการเสื่อมสมรรถภาพ หรือความพิการของร่างกาย หรือจิตใจ ด้วยวิธีการทางกายภาพบำบัด ซึ่งได้แก่ การดัด การดึง การประคบ การนวด การบริหารร่างกาย หรืออวัยวะส่วนหนึ่งส่วนใดของผู้ป่วย ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการกระทำด้วยวิธีการต่างๆ ดังกล่าว ตามหลักวิทยาศาสตร์ หรือการกระทำอื่นที่รัฐมนตรีประกาศเป็นวิธีการทางกายภาพบำบัด หรือการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ตามหลักวิทยาศาสตร์ที่รัฐมนตรีประกาศเป็นเครื่องมือกายภาพบำบัด ในปี พ.ศ. 2520-2522 นายจิตตินทร์ จินดาดวงรัตน์ ได้รับหน้าที่นายกสมาคมฯ ติดต่อกัน 2 สมัย งานทางด้านวิชาชีพกายภาพบำบัดได้ก้าวหน้าไปตามลำดับในทุกด้าน ประชาชนเริ่มมีความเข้าใจในคำว่า “กายภาพบำบัด” มากขึ้น คำว่า “หมอนวด” ค่อยๆ สูญหายไป และในระหว่างนี้ได้มีประกาศกฎกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับการประกอบโรคศิลปะ สาขากายภาพบำบัด ดังนี้ “ข้อ 18 ทวิ ผู้ประกอบโรคศิลปะในสาขากายภาพบำบัดจะปฏิบัติต่อผู้ป่วยได้ต่อเมื่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมให้การวินิจฉัยโรคแล้ว และเห็นสมควรให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาทางกายภาพบำบัด โดยให้คำแนะนำเป็นหนังสือแสดงสาเหตุของโรคและแนวทางในการรักษาแก่ผู้ประกอบโรคศิลปะ ในสาขากายภาพบำบัด ทั้งนี้ ผู้ประกอบโรคศิลปะในสาขากายภาพบำบัดได้แต่เฉพาะยาที่ใช้ในวิธีทางกายภาพบำบัด ซึ่งไม่ใช่ยากินหรือยาฉีด” ในปี พ.ศ. 2522-2527 นายธงสิทธิ์ ตีรณศักดิ์ เป็นนายกสมาคมฯ บริหารงานติดต่อกัน 5 สมัย ซึ่งความก้าวหน้าของวิชาชีพกายภาพบำบัดก็ได้เจริญขึ้นเรื่อยๆ ทุกด้าน อาทิเช่น ย้ายที่ทำการสมาคมฯ มาอยู่ที่โรงเรียนกายภาพบำบัด (ตึกสลากกินแบ่งชั้น 4) อย่างถาวร โดยได้รับความกรุณาจาก ศาสตราจารย์ นายแพทย์นที รักษ์พลเมือง หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ ออร์โธปิดิกส์และกายภาพบำบัด; มีการเผยแพร่ทางโทรทัศน์ ในรายการ“ปัญหาชีวิตและสุขภาพ”; รายการวิทยุ ท.ท.ท. ทุกวันอังคาร เวลา 08.35-09.00 น. ซึ่งท่านผู้ฟังมีความสนใจรับฟังมากพอสมควรเพราะมีจดหมายมาสอบถามปัญหาต่างๆ อยู่เสมอ; ได้ร่วมก่อตั้งสหพันธ์กายภาพบำบัดแห่งเอเชีย (Asian Confederation for Physical Therapy: ACPT ประกอบด้วย ประเทศไทย, ไต้หวัน, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น) และประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการระหว่างประเทศแห่งเอเชียครั้งแรก; พิจารณาเกี่ยวกับขอบเขต สิทธิ และหน้าที่ ตลอดจนหลักสูตรการศึกษาของเจ้าหน้าที่กายภาพบำบัด; คณะกรรมการบริหารสหพันธ์กายภาพบำบัดโลก (WCPT) ได้ให้เกียรติเลือกสถานที่ที่กรุงเทพมหานคร เป็นที่ประชุมการบริหารงานเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ซึ่งเป็นผลทำให้กายภาพบำบัดของประเทศไทย เป็นที่แพร่หลายรู้จักกันทั่วโลกมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ WCPT ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญชาวออสเตรเลีย Miss Roberta Shepherd มาเปิดการอบรมเรื่อง C.P. ในปี พ.ศ. 2525 ทำให้นักกายภาพบำบัดไทย ได้รับความรู้เพิ่มเติมมากยิ่งขึ้น และในการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารของ WCPT ครั้งล่าสุดในสมัยนั้น ผลปรากฏว่ามีผู้แทนจากประเทศไทย (นายธงสิทธิ์ ตีรณศักดิ์) ได้รับเลือกตั้งเป็นรองประธานกรรมการบริหารคนที่ 3 ซึ่งเป็นการนำชื่อเสียงมาสู่ประเทศอย่างมาก ในรอบ 20 ปีแรกที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าวิชาชีพกายภาพบำบัดของไทยนั้น ได้มีการพัฒนาเป็นไปตามลำดับ ซึ่งสถาบันที่เกี่ยวข้องกับผลงานความก้าวหน้า ประกอบด้วย โรงเรียนกายภาพบำบัดแหล่งผลิตบัณฑิต สมาคมกายภาพบำบัดแห่งประเทศไทยจุดศูนย์รวมของสมาชิกกายภาพบำบัด และตัวนักกายภาพบำบัดที่กระจายกันทำงานอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งในสมัยนั้น ได้มีนักกายภาพบำบัดที่เรียนจบแล้วออกไปรับใช้สังคมประมาณ 231 คน 36 จังหวัด 70 โรงพยาบาล และคงอีกไม่นานนักคงจะมีนักกายภาพบำบัดครบทั้ง 76 จังหวัด ทุกโรงพยาบาลของประเทศไทย ความก้าวหน้าของวิชาชีพกายภาพบำบัดได้มีการพัฒนามาตลอดเวลา ไม่ว่า จะด้านวิชาการหรืองานวิจัย เพราะได้มีการประชุมวิชาการ หรือเปิดอบรมระยะสั้นมาอย่างสม่ำเสมอ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ด้านการประกอบวิชาชีพส่วนตัวก็สามารถประกอบอาชีพอิสระ เปิดคลินิกส่วนตัวได้เพราะได้มีการออกพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ สาขากายภาพบำบัด และในขณะนี้ความต้องการนักกายภาพบำบัดตามโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชน ยังมีความต้องการนักกายภาพบำบัด ไปประจำทำงานอีกมาก ส่วนทางด้านประชาชน ก็ได้มีการรู้จักกับงานทางด้านกายภาพบำบัดมากขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากได้รับการรักษาจากนักกายภาพบำบัดตามโรงพยาบาลต่างๆ ผู้ป่วยตามแผนกกายภาพบำบัดเพิ่มขึ้นทุกปี และเป็นผลจากด้านประชาสัมพันธ์ในทุกรูปแบบจากรายการ “เพื่อสุขภาพ” ทางสถานีวิทยุ ท.ท.ท., จากรายการโทรทัศน์, จากหนังสือพิมพ์ หรือจากการจัดงานนิทรรศการด้านวิชาการสู่ประชาชน ฯลฯ ซึ่งจะเห็นได้ว่าวิชาชีพกายภาพบำบัดของประเทศไทยได้มีความก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง และเป็นที่ยอมรับของประชาชนมากขึ้นๆ และคิดว่าอีกไม่นานเกินรอ กายภาพบำบัดคงจะได้ออกไปรับใช้สังคมทั่วประเทศทั้งในเมืองและชนบท